สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 10 เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้นดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2548 หนังสือมอบอำนาจของโจทก์มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้า บริษัท ส. โดย ซ. และ ว. กรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้... ข้อ 1 ให้ตัวแทนมีอำนาจฟ้องคดี... ข้อ 9 ... ให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง เพื่อให้มีอำนาจและดำเนินการตามอำนาจดังกล่าวข้างต้นให้ทุกประการ..." และหนังสือมอบอำนาจอีกฉบับมีข้อความว่า "ด้วยหนังสือนี้ข้าพเจ้าบริษัท ส. โดย ว. กรรมการผู้มีอำนาจ ขอแต่งตั้งให้ จ. และหรือ ก. ให้เป็นตัวแทนของบริษัท และให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้..." แม้หนังสือมอบอำนาจฉบับหลังจะระบุว่า ว. ผู้มอบอำนาจกระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ มิได้ระบุว่ากระทำการแทนในฐานะตัวแทนโจทก์ก็ตามแต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 10 บัญญัติว่า "เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล" ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยในคำฟ้องระบุว่า จ. และหรือ ก. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง กับอ้างหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ทั้งใบแต่งทนายความโจทก์ระบุว่า ผู้แต่งทนายความคือโจทก์โดย จ. ผู้รับมอบอำนาจช่วง จึงต้องถือว่า ว. มีเจตนาลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจฉบับหลังเพื่อมอบอำนาจช่วงให้ จ. และหรือ ก. ฟ้องคดีนี้ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ หาได้กระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง